แนะนำเครื่องมือรังสีรักษา

เทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อการรักษาที่ครอบคลุมและแม่นยำ

BRACHYTHERAPY


รังสีรักษาระยะใกล้อัตราความเข้มรังสีสูง (High Dose Rate Brachytherapy; HDR-BT)เป็นรูปแบบหนึ่งในการรักษาด้วยรังสี โดยอาศัยเทคนิคการนำแหล่งกำเนิดรังสี เช่น สารกัมมันตรังสีหรือที่เราเรียกกันติดปากว่า เม็ดแร่” ที่มีอัตราการปล่อยพลังงานสูงในช่วงเวลาอันสั้น มาวางให้แนบชิดหรือใกล้กับรอยโรคมะเร็ง เพื่อให้ก้อนมะเร็งได้รับค่าปริมาณรังสีความเข้มสูงอย่างแม่นยำในระยะทางสั้น ทำให้เนื้อเยื่อปกติได้รับรังสีต่ำ (Rapid Dose Fall-off) เทคนิคนี้จึงมีประสิทธิภาพในการรักษาสูงและผลข้างเคียง (Complication) ต่ำ 

 

การรักษาโรคมะเร็งด้วยเทคนิค HDR-BT มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับการผ่าตัดและการฉายรังสีจากภายนอก หรือสามารถจะนำเทคนิค HDR-BT มาเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาร่วมกับการผ่าตัดและ/หรือการฉายรังสี ส่งผลให้เทคนิค HDR-BT เป็นที่นิยมใช้ในการรักษาในรอยโรคมะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งศีรษะและลำคอ และมะเร็งเต้านม เป็นต้น

 

ปัจจุบันที่โรงพยาบาลศิริราชได้นำระบบภาพสามมิติทางการแพทย์ เช่น ภาพซีที (Computed Tomography Image; CT) และภาพเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Image; MRI) มาใช้งานในการวางแผนการรักษาให้กับผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์รังสีรักษาสามารถระบุขอบเขตก้อนมะเร็งได้อย่างชัดเจนและแม่นยำ อีกทั้งกำหนดตำแหน่งการเคลื่อนที่ของเม็ดแร่ และระยะเวลาในการปล่อยรังสีให้มีความจำเพาะ เหมาะสมกับลักษณะของก้อนมะเร็งและโครงสร้างร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย ด้วยความซับซ้อนของการวางแผนการรักษาที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยเทคนิคที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยระดับสากล