เทคนิคการรักษาผู้ป่วย

เทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อการรักษาที่ครอบคลุมและแม่นยำ

3DCRT การวางแผนการรักษาแบบสามมิติ

 


การวางแผนการรักษาแบบสามมิติ เป็นหนึ่งในเทคนิคการใช้รังสีรักษาแบบระยะไกล (External beam therapy) โดยอาศัยข้อมูลภาพตัดขวางจากเครื่องจำลองการรักษาแบบเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT simulator) มาช่วยในการวางแผนการรักษา ข้อดีของภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เมื่อเทียบกับภาพถ่ายเอกซเรย์ทั่วไปที่ใช้ในการวางแผนการรักษาแบบสองมิติดั้งเดิม คือสามารถให้ข้อมูลตำแหน่งอวัยวะภายในร่างกาย รวมถึงขนาดและตำแหน่งของรอยโรคที่ต้องการรักษาได้ (ดังแสดงในรูปที่ 1) โดยเมื่อนำภาพจากเครื่องมืออื่นๆ อาทิเช่น ภาพ MRI และ PET scan มาวิเคราะห์รวมกันจะช่วยให้แพทย์และนักฟิสิกส์การแพทย์สามารถมองเห็นตำแหน่งและขอบเขตของก้อนมะเร็งได้อย่างชัดเจน เป็นประโยชน์ในการกำหนดทิศทาง และจำนวนพื้นที่ลำรังสีในการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม สามารถหลีกเลี่ยงทิศทางการให้รังสีในตำแหน่งที่มีอวัยวะสำคัญซึ่งอยู่ติดกับบริเวณก้อนมะเร็งหรือรอยโรคได้ นอกจากนั้น ในเทคนิคนี้ยังอาศัยอุปกรณ์กำบังรังสีชนิดซี่ (Multileaf collimator) มาช่วยในการปรับขนาดและพื้นที่ลำรังสีให้มีความกระชับเข้ากับรูปร่างของก้อนมะเร็ง รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยปรับกระจายปริมาณรังสี (Beam weighting and Beam modifier) ให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งก้อนมะเร็งมากที่สุด เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้รังสีในการรักษาโรค ลดอัตราการเกิดผลข้างเคียงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อผู้ป่วย

 

การวางแผนการรักษาแบบสามมิตินี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการรักษามะเร็งแทบทุกส่วนของร่างกาย อาทิเช่น มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่อย่างไรก็ตามเทคนิคการวางแผนการรักษาแบบสามมิติ ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ในกรณีเช่น ก้อนมะเร็งที่มีรูปร่างซับซ้อนผิดปกติ หรือ ก้อนมะเร็งที่มีลักษณะโอบล้อมรอบอวัยวะสำคัญ ซึ่งอาจเป็นไปได้ยากสำหรับการปรับแต่งพื้นที่ลำรังสี เพื่อให้ปริมาณรังสีสูงนั้นครอบคลุมอยู่เฉพาะภายในก้อนมะเร็ง จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคการวางแผนการรักษาอื่นที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น เทคนิคการฉายแสงแบบปรับความเข้ม (IMRT) หรือเทคนิคการฉายแสงแบบปรับความเข้มรอบตัวผู้ป่วย (VMAT) มาช่วยในการวางแผนการรักษา เพื่อช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดต่ออวัยวะข้างเคียง และเพิ่มผลการรักษาที่ดีขึ้นต่อไป


วีดีโอที่เกี่ยวข้อง