ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง

รังสีทางการแพทย์เป็นอันตรายหรือไม่

รังสีก่อประจุ (Ionizing radiation) เกิดจากอะตอมหรือธาตุที่ไม่เสถียร ซึ่งเรียกว่า ธาตุกัมมันตรังสี (Radioactive element) โดยธาตุกัมมันตรังสีที่คนไทยน่าจะเคยได้ยินชื่อมาก่อน ได้แก่ โคบอลต์-60 (Co-60) ยูเรเนียม-235 (Uranium-235) เป็นต้น

เนื่องจากธาตุกัมมันตรังสีเป็นอะตอมที่ไม่เสถียร (หมายความว่า สัดส่วนระหว่างโปรตอนและนิวตรอนในนิวเคลียสหรือแกนกลาง ไม่เป็นไปตามสัดส่วนที่ควรจะเป็นดังนั้น เพื่อที่จะทำให้อะตอมเสถียรขึ้น จึงปลดปล่อยรังสีซึ่งเป็นพลังงานหรือมวลสารที่มีมากเกินไปออกมา เรียกว่า กัมมันตภาพรังสี(Radioactivity) และกัมมันตภาพรังสีดังกล่าว ก็มีพลังงานมากเพียงพอที่จะทำปฏิกิริยากับอะตอมหรือธาตุที่ชนทำให้เกิดเป็นประจุได้ จึงเรียกว่า รังสีก่อประจุ สามารถแบ่งออกได้เป็น ชนิด ดังนี้

-              รังสีแอลฟา มีมวลมาก เคลื่อนที่ได้ระยะสั้น (ประมาณ 3-5 เซนติเมตรในอากาศไม่สามารถทะลุทะลวงผิวหนังหรือเสื้อผ้าได้

-              รังสีเบตา มีมวลน้อยกว่ารังสีแอลฟา เคลื่อนที่ได้ไกลกว่า (ประมาณ 1-3 เมตรในอากาศสามารถทะลุทะลวงได้มากกว่ารังสีแอลฟา

-              รังสีแกมมาและรังสีเอ็กซ์ เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ไม่มีมวล เคลื่อนที่ผ่านอากาศได้ไกลที่สุด มีอำนาจทะลุทะลวงสูงที่สุด โดยทั้งสองชนิดแตกต่างกันที่แหล่งกำเนิดรังสีเท่านั้น

 

Q: ไอ้หนุ่มมม มันเหมือนกับเอ็กซเรย์ที่ใช้กันในโรงพยาบาลมั้ยนะ (เสียงตาข้างบ้านลอยมาอีกแล้ว)

A: รังสีเอ็กซ์หรือเอ็กซเรย์คืออย่างเดียวกันเลยครับ ส่วนใหญ่ที่ใช้ก็อย่างที่ตาบอกเลย ถ่ายเอ็กซเรย์ดูอวัยวะภายใน ดูกระดูกส่วนต่างๆ เรียกสาขาวิชานี้ว่า รังสีวินิจฉัย” อีกสาขาวิชาที่ใช้เอ็กซเรย์ไปรักษาโรคมะเร็ง (เป็นส่วนใหญ่เรียกว่า รังสีรักษา


Q: ใช้รังสีเหมือนกัน แล้วจะแยกออกมาเป็นสองอย่างให้งงทำไมล่ะ

A: คืออย่างนี้ครับ รังสีวินิจฉัย เป้าหมายคือ การใช้รังสีเพื่อตรวจสอบอวัยวะในส่วนนั้นนั้น ว่าผิดปกติหรือไม่ แต่รังสีรักษา เป้าหมายจะใช้รังสีเพื่อรักษาโรค ตามชื่อเลย และระดับพลังงานของรังสีที่ทั้งสองสาขาใช้ก็แตกต่างกันมากด้วยนะ 


Q: แตกต่างกันเท่าไหร่ล่ะ

A: ก็...ปกติไฟบ้าน เราจะใช้ที่ประมาณ 220 โวลต์ใช่มั้ยครับ แต่เอ็กซเรย์ของรังสีวินิจฉัยจะใช้ที่หลักพันโวลต์  ส่วนรังสีรักษาใช้ที่หลักล้านโวลต์ครับ


Q: โอ้โห แล้วมันจะอันตรายมั้ย

A: คืออย่างนี้ครับ ขอไล่เรียงวิธีการเกิดรังสีเอ็กซ์ก่อน

เราจะใช้วิธีเร่งอิเล็กตรอนให้มีความเร็วมากพอ จากนั้นก็ไปชนเป้าที่เป็นโลหะ ซึ่งจะทำให้เกิดรังสีเอ็กซ์ขึ้นมา กระเจิงไปในทุกทิศทาง แต่ทีนี้กระบวนการดังกล่าว เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ถูกป้องกันภายในหัวเครื่องฉายรังสี โดยมีเพียงช่องขนาดไม่กี่เซนติเมตรเป็นทางผ่านให้กับรังสีไปยังตำแหน่งที่ต้องการรักษา


Q: แล้วส่วนอื่น ที่อยู่ด้านนอกล่ะ จะโดนรังสีมั้ย

A: ไม่ต้องกังวลครับ เพราะอย่างที่บอกไป ภายในหัวเครื่องฉายรังสี มีส่วนที่คอยป้องกันรังสีและบีบลำรังสีให้มีขนาดเท่าที่วางแผนการรักษาเท่านั้น ดังนั้น  ส่วนอื่นๆจึงไม่มีโอกาสที่จะได้รับรังสีที่เกิดจากขึ้นในส่วนนี้


Q: แล้วรังสีที่ฉายเข้าไปในตัว มันมีอันตรายมั้ย

A: รังสีจะเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งโดยปริมาณรังสีที่เซลล์มะเร็งได้รับจะสูงมาก ในขณะที่เซลล์ปกติของอวัยวะข้างเคียงจะถูกจำกัดปริมาณรังสีให้อยู่ในปริมาณต่ำลงตามเกณ์มาตรฐาน เพื่อลดผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย


อย่างไรก็แล้วแต่ ในระหว่างทำการรักษา จะมีแพทย์เจ้าของไข้คอยดูแล สอบถามอาการที่เกิดขึ้น และประเมินว่าสามารถฉายต่อไปได้ หยุดพักหรือจ่ายยาเพื่อช่วยลดอาการดังกล่าว 

นั่นหมายความว่า รังสีที่ใช้อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ แต่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ก็สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยได้ครับ


คุณประสพชัย  เอื้ออังกานนท์
นักรังสีการแพทย์ (ปฏิบัติการ)

ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง