ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง

การดูแลช่องปากสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอ

     การฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อต่อมน้ำลาย ต่อมรับรส และเยื่อบุช่องปากของผู้ที่ได้รับการฉายรังสี  ทำให้เกิดการรับรสชาติที่ผิดปกติ มีการผลิตน้ำลายมากหรือน้อยผิดปกติ เกิดอาการน้ำลายแห้งเหนียว มีอาการเจ็บในปากและคอ และเกิดแผลในช่องปาก ซึ่งหากมีการจัดการและการดูแลไม่ดี จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น เกิดความไม่สุขสบาย และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องปาก ฟันผุ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดกระดูกขากรรไกรตายได้

     การดูแลช่องปากที่ถูกต้อง นอกจากจะช่วยบรรเทาความไม่สุขสบาย และลดความรุนแรงของอาการที่อาจเกิดขึ้นได้จากการฉายรังสีแล้วยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อในช่องปากได้ การดูแลช่องปากต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนฉายรังสีไปจนถึงฉายรังสีครบ  และผู้ป่วยควรมีการประเมินความเปลี่ยนแปลงภายในช่องปากของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลช่องปากให้เหมาะสมกับอาการที่เกิดขึ้น และสามารถแจ้งอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นให้แพทย์หรือพยาบาลทราบได้ทันท่วงที

     การดูแลช่องปากก่อนได้รับการฉายรังสี

1. ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอทุกราย ต้องได้รับการตรวจและประเมินสุขภาพช่องปากโดยทันตแพทย์ก่อนการฉายรังสี หากพบฟันที่มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี ควรถอนฟันให้เรียบร้อย และควรรอให้แผลหายสนิทก่อนฉายรังสีอย่างน้อย 14 วัน 

2. รักษาความสะอาดช่องปากสม่ำเสมอ และใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ หรืออมฟลูออไรด์ตามแผนการรักษาของแพทย์ เพื่อป้องกันฟันผุ

     การดูแลช่องปากในระหว่างได้รับการฉายรังสี

1. ประเมินช่องปากอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

2. แปรงฟันหลังมื้ออาหารทุกมื้อ หรืออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยใช้แปรงสีฟันขนาดเล็ก และมีขนแปรงที่อ่อนนุ่ม ร่วมกับใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์และมีรสอ่อน ไม่ระคายเคืองต่อช่องปาก ควรแปรงฟันเบาๆ ทั้งบริเวณฟันและลิ้น หลังแปรงฟันควรล้างแปรงสีฟันทุกครั้ง และทิ้งไว้ให้แห้ง โดยวางไว้ในสถานที่ที่มีอากาศโปร่ง ไม่อับชื้น และควรเปลี่ยนแปรงสีฟันอย่างน้อยเดือนละ ครั้ง

3. หากมีอาการเจ็บในช่องปาก มีแผล มีเลือดออก หรือมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ไม่ควรทำความสะอาดช่องปากโดยใช้แปรงสีฟัน เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและเกิดการบาดเจ็บของเยื่อบุช่องปาก ควรใช้ไม้พันสำลีหรือผ้าก๊อซเช็ดฟันและลิ้นแทน

4. ผู้ป่วยที่ใช้ฟันปลอม ควรรักษาความสะอาดฟันปลอมอย่างสม่ำเสมอ และใส่เฉพาะช่วงเวลาที่รับประทานอาหาร เพื่อลดการระคายเคืองเยื่อบุช่องปาก

5. หากยังไม่มีอาการเจ็บในช่องปากและลำคอ หรือยังไม่เกิดแผลในช่องปาก ควรบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออย่างน้อย 4 ครั้งต่อวัน เพื่อรักษาความสะอาด และเพิ่มความชุ่มชื้นของช่องปาก แต่หากเริ่มมีอาการเป็นแผลในช่องปาก หรือมีน้ำลายเหนียว ควรบ้วนปากด้วยน้ำเกลือถี่ขึ้น อย่างน้อยทุก 2-4 ชั่วโมง ตามระดับความรุนแรงของแผลและอาการน้ำลายเหนียว

6. จิบน้ำบ่อยๆ และดื่มน้ำมากกว่าวันละ 2 ลิตร เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของช่องปาก 

7. ทาวาสลีนบริเวณริมฝีปากระหว่างวันเพื่อป้องกันริมฝีปากแห้งแตกเป็นแผล

8. หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคือง ได้แก่ การสูบบุหรี่ การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ การดื่มน้ำอัดลม สุรา การรับประทานอาหารที่มีรสจัด เผ็ด เปรี้ยว ร้อนจัดหรือเย็นจัด อาหารแห้งหรือแข็ง

9. เลือกรับประทานอาหารที่อ่อนนุ่ม หรืออาหารเหลว ตามสภาพความเหมาะสมของตนเอง โดยรับประทานอาหารให้ได้ปริมาณอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

10. ผู้ป่วยที่มีอาการน้ำลายแห้งร่วมกับมีการรับรสชาติที่ผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยงภาชนะที่เป็นโลหะ และใช้ภาชนะที่เป็นแก้วหรือพลาสติกแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการรับรสโลหะ หรืออมลูกอมกลิ่นมินท์ที่ปราศจากน้ำตาล เพื่อลดรสโลหะในปาก

11. หากมีอาการน้ำลายแห้งมาก ให้อมลูกอมหรือเคี้ยวหมากฝรั่งที่ปราศจากน้ำตาล หรือมีน้ำตาลน้อย เพื่อกระตุ้นการหลั่งของน้ำลาย หรือใช้น้ำลายเทียมตามแผนการรักษาของแพทย์

12. หากมีอาการเจ็บในปากและคอ มีแผล มีเลือดออก มีจุดขาวหรือคราบขาวภายในช่องปาก ควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลเพื่อรับการรักษาต่อไป

 

วิธีผสมน้ำเกลือบ้วนปาก

              วิธีที่ 1

             เกลือ ½ ช้อนชา ต่อน้ำ 1 แก้ว (250 cc)

       หรือ เกลือ 1/2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ลิตร

              วิธีที่ 

             โซเดียมไบคาโบเนต (เบกิ้งโซดา หรือผงฟู) ½ ช้อนชา + เกลือ ½ ช้อนชา ต่อน้ำ 1 แก้ว (250 cc)

      หรือ โซเดียมไบคาโบเนต (เบกิ้งโซดา หรือผงฟู) ½ ช้อนโต๊ะ + เกลือ ½ ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ลิตร

 

 

พวมณฑิรา คำห่อ

หอผู้ป่วย 72 ปีชั้น ตะวันออก

งานการพยาบาลรังสีวิทยา โรงพยาบาลศิริราช

ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง