ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง

เมื่อต้องฉายแสง... ป้องกันอย่างไรให้พ้นอันตรายจากรังสี

สืบเนื่องจากบทความครั้งที่แล้ว เรากันดีว่ารังสีจะเข้าไปในร่างกายทำลายเซลล์มะเร็งโดยปริมาณรังสีที่เซลล์มะเร็งได้รับจะสูงมาก ในขณะที่เซลล์ปกติของอวัยวะข้างเคียงจะถูกจำกัดปริมาณรังสีให้อยู่ในปริมาณต่ำลงตามเกณ์มาตรฐาน เพื่อลดผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย แต่ก็ยังมีคำถาม….

 

Q : รังสีมันทะลุผ่านตัวไปได้ด้วยอย่างนั้นเหรอ ฟังแล้วน่ากลัวจัง

A: เรื่องนั้นไม่ต้องกังวลไปครับ อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่า การเอารังสีมาใช้งานจะต้องผ่านการคำนวน วางแผนมาอย่างละเอียดก่อนที่จะนำมาใช้กับผู้ป่วย แถมยังฉายเฉพาะส่วนหนึ่ง ไม่ได้โดนรังสีทั้งตัวสักหน่อย

 

Q: แต่ก็จำได้ว่า เคยพูดว่า มันมีรังสีกระเด็นออกมาโดนบริเวณอื่นด้วยนี่นา แล้วอย่างนี้จะป้องกันยังไง ใช้ผ้าเช็ดหน้ามาปิดได้มั้ย กลัวจะตาบอดตอนแก่น่ะ

A: เขาเรียกว่า รังสีกระเจิง ซึ่งจะเกิดทุกครั้งที่สัมผัสตัวกลาง หมายความว่า ต่อให้เราเอาอะไรมาปิดก็ตาม มันก็จะมีรังสีกระเจิงเกิดขึ้นอยู่ดี ยังไม่พูดถึงเรื่องความหนาแน่นของวัสดุที่เอามาใช้นะครับ อย่างที่เคยเล่าไปแล้วว่า รังสีมีหลายประเภท ความสามารถในการทะลุทลวงก็ต่างกัน อย่างเช่น รังสีแกมม่าหรือรังสีเอ็กซ์ที่เราคุยกันมาตลอดนั้น ก็จำเป็นจะต้องใช้โลหะ (บางประเภทในการป้องกันรังสี

 

Q: หมายความว่า ถ้าฉันไปฉายรังสี ก็จะต้องรับรังสีกระเจิงจนตาบอดเหรอ

A: การป้องกันรังสีมีหลายส่วนมาก เช่น ในส่วนของผู้ป่วยที่ทำการรักษา ก็จะต้องดูว่ารังสีที่ฉายไปโดนอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงแล้วเกิดอันตรายหรือไม่ หรือรังสีกระเจิงที่เกิดขึ้น ก็จะมีการตรวจวัดตามรอบเวลาที่กำหนด เพื่อดูว่าไม่มีผลต่อผู้ป่วยหรือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในบริเวณใกล้เคียง คุณตารู้มั้ยว่า ในธรรมชาติก็มีรังสีเหมือนกันนะ

 

Q: จริงเหรอ!! แล้วมันเป็นอันตรายมั้ย หมายถึงรังสีที่อยู่ในธรรมชาติน่ะ

A: เอาอย่างนี้ ผมจะยกตัวอย่างให้ฟังละกัน แสงแดด รังสี UV สารประกอบต่างๆในดิน ในน้ำ ทั้งหมดที่ผมพูดไปมีรังสีอยู่ทั้งนั้น ดังนั้น จะเห็นว่าพวกเราต้องโดนรังสีเป็นประจำทุกๆวันอยู่แล้ว ซึ่งร่างกายของมนุษย์สามารถต้านทานรังสีได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว หมายความว่า โดยทั่วไป รังสีที่มีอยู่ในธรรมชาติไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ครับ ทีนี้ เรากลับมาคุยเรื่องรังสีรักษากันต่อดีกว่าครับ


ในการออกแบบห้องฉายรังสี ลักษณะเส้นทางเดินเข้าห้องฉายและความหนาของผนัง รวมถึงวัสดุที่ใข้สร้างห้อง ทุกอย่างต้องผ่านมาตรฐานที่มีการกำหนดไว้ว่า จะช่วยลดปริมาณรังสีให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย หมายความว่า ญาติหรือผู้ติดตามผู้ป่วยสามารถรอในจุดที่กำหนดได้อย่างปลอดภัย นั่นเองครับ

 

Q: ได้ฟังแบบนี้ก็สบายใจ ว่าแต่ทำไมต้องนัดมาหลายวันด้วยนะ บางทีก็เดินทางลำบาก นัดมาครั้งเดียวหรือให้มันห่างๆหน่อยไม่ได้เหรอ

A: ตรงนี้เก็บไว้คุยกันต่อคราวหน้าแล้วกันนะครับ 


คุณประสพชัย  เอื้ออังกานนท์
นักรังสีการแพทย์ (ปฏิบัติการ)

 

ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง