เวลาเจอผู้ป่วยเวลาคุยกับหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ต่างๆ ตอนมารักษามะเร็ง เคยสงสัยกันบ้างมั้ยครับว่า ทำไมบางคนพูดว่า “ฉายแสง” บางคนก็พูดว่า “ฉายรังสี” แล้วสรุปว่ามันอย่างเดียวกันหรือต่างกันอย่างไร เรามาเริ่มกันที่ว่า แสงกับรังสีเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรก่อน เริ่มกันที่ “แสง” ทุกคนน่าจะบอกได้ว่า อะไรคือแสง บางคนอาจจะชี้ไปที่ดวงอาทิตย์ หลอดไฟ หน้าจอโทรศัพท์ หรืออะไรก็ตามที่เรามองเห็นว่า มันส่องสว่างได้ คำถามถัดไป แล้ว “รังสี”คืออะไร
รังสี (Radiation) คือ พลังงานที่แผ่ออกจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งอาจสามารถทะลุผ่านวัตถุชนิดต่างๆได้ โดนเดินทางผ่านบรรยากาศ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. รังสีไม่ก่อประจุ (non ionizing radiation) เป็นรังสีพลังงานต่ำ อยู่ในช่วงต่ำของแถบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic spectrum) เช่น แสงอาทิตย์ แสงอินฟราเรด คลื่นไมโครเวฟ และลื่นวิทยุ เป็นต้น
2. รังสีก่อประจุ (ionizing radiation) เป็นรังสีที่เกิดจากอะตอมหรือธาตุที่ไม่เสถียร ซึ่งเรียกว่า ธาตุกัมมันตรังสี (radioactive element) เช่น ยูเรเนียม และทอเรียมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการทำปฏิกิริยานิวเคลียร์
การแผ่รังสีได้เองอย่างต่อเนื่องของธาตุกัมมันตรังสี เรียกว่า กัมมันตภาพรังสี (radioactivity) โดยรังสีที่ปล่อยออกมาเป็นรังสีก่อประจุที่มีการพบได้ 4 ชนิด คือ รังสี แอลฟา รังสีเบตา รังสีแกมมา และรังสีเอ็กซ์
โอ้ย!! ไอ้หนุ่ม พูดให้รู้เรื่องหน่อย ตาไม่เข้าใจ (เสียงตาข้างบ้านลอยมาแต่ไกล)
สรุปประเด็นหลักๆ ก็คือ
· รังสีเป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่เคลื่อนที่ได้ และผ่านวัตถุบางชนิดได้
· แสง เป็นรังสีประเภทหนึ่งเช่นกัน และเราสามารถพบเจอรังสีประเภทอื่นๆ ในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน ยกตัวอย่าง ทำไมเราถึงรู้สึกร้อนเวลาอยู่ในกลุ่มคนจำนวนมากหรือยืนตากแดดนานๆ ก็เพราะเราสัมผัสได้ถึงรังสีอินฟราเรด หรือในอีกชื่อหนึ่ง คือ รังสีความร้อน และมนุษย์ยังเอามาใช้ประโยชน์ต่างๆอีก เช่น การตรวจจับความร้อน เตาแก๊สอินฟราเรด แม้กระทั่ง แผ่นประคบร้อนแบบอินฟราเรด และในทางการแพทย์ก็ได้มีการนำเอารังสีหลายประเภทมาใช้งานด้วยเช่นกัน
สรุปว่า มันคือแสงใช่มั้ยล่ะ (ตาก็ขยันถามแทรกจัง)
คืออย่างนี้ครับ จากที่เราได้คุยกันไป แสงเป็นรังสีประเภทหนึ่ง เปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือนกับก๋วยเตี๋ยวที่มีทั้ง เส้นเล็ก เส้นใหญ่ เส้นหมี่ ฯลฯ แต่เราก็เรียกรวมๆ กันว่า ก๋วยเตี๋ยว รังสีก็เหมือนกัน แบ่งออกได้หลายประเภท และ “แสง” ก็เป็นหนึ่งในนั้น
วกกลับมาที่ คำถามตอนต้น สรุปว่า เราฉายแสงหรือฉายรังสี
ในการรักษามะเร็ง รังสีที่เราใช้เป็นรังสีแกมมาหรือรังสีเอ็กซ์เป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่แสงเพราะถ้าพูดตามหลักการแล้ว เราต้องการรังสีพลังงานสูงพอที่จะผ่านผิวหนัง เข้าไปทำลายก้อนมะเร็งที่อยู่ภายในร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งแสงมีพลังงานไม่เพียงพอ แล้วคำว่า “ฉายแสง” มาจากไหน น่าจะเกิดขึ้นจากความเข้าใจคลาดเคลื่อน ที่เวลานักรังสีการแพทย์ทำการจัดตัวผู้ป่วยเสร็จแล้ว จะต้องเปิดไฟ เพื่อตรวจสอบพื้นที่ฉาย ทำให้ผู้ป่วยคิดว่า ตนกำลังรับการรักษาในช่วงดังกล่าว
แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ตอนนี้เราก็ยังใช้คำว่า “ฉายแสง” ในการสื่อสารกับผู้ป่วยหรือญาติอยู่ นั่นก็เพราะมันช่วยให้เราสื่อสารเข้าใจกันยังไงล่ะครับ
คุณประสพชัย เอื้ออังกานนท์
นักรังสีการแพทย์ (ปฏิบัติการ)