ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง

ทำไมอยากเริ่มฉายเลย แต่ยังฉายไม่ได้?

วันนี้ขอเล่าเรื่องรายละเอียดต่างๆ  ต่อจากคราวที่แล้วนะครับ

หลายคนอาจจะสงสัยว่า หลังจากที่ได้คุยกับคุณหมอแล้ว ทำไมยังต้องไปโรงพยาบาลแล้วทำไมไปแล้วยังไม่ได้รับการรักษา?

เหตุผลเนื่องจากว่า ในปัจจุบัน วิธีการรักษาด้วยการฉายรังสีจำเป็นต้องมีการวางแผนการรักษาอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคนิคที่ฉาย ปริมาณรังสีที่ใช้ และทิศทางการฉายรังสี ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถทำได้ หลังจากได้ข้อมูลภาพจำลองการรักษาด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT simulationและ/หรือการจำลองการรักษาด้วยภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI simulation) ดังนั้น จึงจำเป็นต้องนัดผู้ป่วยมาโรงพยาบาลก่อนกำหนดการฉายรังสี 1 ครั้ง เพื่อทำการจำลองการรักษาด้วยภาพ CT และ/หรือ MRI

ไม่เพียงเท่านั้น ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยจะต้องนอนในลักษณะเดียวกันตลอดการฉายรังสีทุกครั้ง ดังนั้น เราจึงต้องมีการกำหนดอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยจะต้องใช้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งรอยโรคและพยาธิสภาพของผู้ป่วยเอง เช่น ถ้าผู้ป่วยต้องได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอ จะต้องมีการทำหน้ากากสวมบริเวณใบหน้า แต่หากผู้ป่วยต้องได้รับการฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน จะต้องมีการยึดตรึงด้วยอุปกรณ์บริเวณข้อต่อสะโพกลงไป เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการฉายรังสีในแต่ละครั้ง

แล้วทำไมจะต้องใช้อุปกรณ์เหล่านี้ด้วย ให้ผู้ป่วยนอนตามปกติได้หรือไม่?

อย่างที่ได้บอกไปข้างต้น ว่าเราจะใช้ภาพจำลองการรักษาในการคำนวณปริมาณรังสี ดังนั้น ลักษณะท่าทางการนอนของผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องนอนเหมือนกันในทุกๆ วัน เเละควรนอนในท่าที่รู้สึกสบาย ไม่เกร็ง เพื่อความเเม่นยำในการจัดท่าให้เหมือนเดิมตลอดระยะเวลาที่ทำการรักษา ส่วนคำตอบสำหรับคำถามดังกล่าว เป็นเพราะว่า หมอนหรือท่าทางตามปกติ อาจทำให้เกิดการขยับระหว่างทำการฉายรังสีได้ ซึ่งต่อให้คำนวณปริมาณรังสีและทิศทางมาอย่างดีแล้ว แต่หากเกิดการขยับในช่วงเวลาดังกล่าว ก็อาจทำให้การฉายรังสีผิดพลาดได้

หลังจากได้ข้อมูลภาพการจำลองการรักษามาแล้ว ข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปวางแผนการรักษา ซึ่งจะใช้ระยะเวลาตามความยากง่ายของแต่ละเทคนิค ผู้ป่วยจะถูกนัดเพื่อมาทำการจำลองการรักษาหรือเพื่อการฉายรังสี ซึ่งขั้นตอนในส่วนนี้แล้วแต่วิธีการของแต่ละโรงพยาบาล 

ในครั้งหน้า เราจะมาลงรายละเอียดของแต่ละเทคนิคกัน ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ทำไมถึงเตรียมตัวไม่เหมือนกัน

ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง