ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง

มะเร็งหลังโพรงจมูก

มะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal cancer)

            เป็นเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นบริเวณหลังโพรงจมูกซึ่งเป็นหนึ่งในโรคของมะเร็งส่วนคอที่พบได้บ่อยใน 3 อันดับแรกโดยเฉพาะในแถบเอเชีย รวมถึงประเทศไทย มีอัตราการพบอยู่ประมาณ 20-30 คนต่อประชากร 100000 คน โดยตำแหน่งของมะเร็งหลังโพรงจมูกจะอยู่เหนือบริเวณเพดานอ่อนขึ้นไป 

            อาการแสดงที่พบได้บ่อยคือ มีก้อนที่คอโตโดยก้อนมักจะไม่เจ็บหรืออักเสบร่วมด้วย เนื่องจากมะเร็งมักจะมีการกระจายมาบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่คอ นอกจากนี้อาจจะมีอาการ ได้ยินเสียงลดลง, หูอื้อเลือดกำเดาไหล, ชาบริเวณใบหน้ามองเห็นภาพซ้อน เป็นต้น


ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก

            1. เพศชายจะพบได้บ่อยกว่าเพศหญิง

            2. เชื้อชาติโดยมะเร็งชนิดนี้จะพบได้บ่อยในแถบเอเชียมากกว่ายุโรป 

            3. กินอาหารหมักดอง เช่น แหนม เป็นต้น

            4. การติดเชื้อไวรัสชนิด Epstein-Barr virus (EBV)

              5. พันธุกรรม

            6. การสูบบุหรี่และการดื่มสุรา


การรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก

1. การฉายรังสี

            เป็นการใช้รังสีเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งซึ่งเป็นวิธีการรักษาหลักของมะเร็งชนิดนี้ เนื่องจากผ่าตัดทำได้ยากและผลข้างเคียงมาก โดยผลลัพธ์การรักษาอยู่ในระดับที่ดีและเป็นวิธีการรักษาที่เป็นมาตฐานในปัจจุบัน ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีจะต้องมารับการฉายรังสีสัปดาห์ละ 5วันใช้เวลาทั้งหมดประมาณ  สัปดาห์ โดยใช้เทคนิครังสีแปรความเข้ม (intensity-modulated radiotherapy, IMRT)         ผลข้างเคียงที่สำคัญ ได้แก่ ผิวหนังอักเสบเจ็บปากเจ็บคออ่อนเพลียน้ำลายแห้งรับรสชาติเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น 

2. การให้ยาเคมีบำบัด

            โดยจะให้ยาเคมีบำบัดผ่านทางหลอดเลือดดำซึ่งมักจะใช้ร่วมกันกับการฉายรังสีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา(concurrent chemoradiation)และ/หรือ ก่อน/หลังการฉายรังสี(induction, adjuvant chemotherapy) ตามข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยแต่ละราย ผลข้างเคียงขึ้นอยู่กับชนิดของยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงที่สำคัญที่อาจเกิดขึ้นได้คือ เจ็บปากเจ็บคอคลื่นไส้อาเจียนเบื่ออาหารท้องเสียเม็ดเลือดขาวต่ำผลลข้างเคียงต่อไต เป็นต้น

3. การผ่าตัด

            โดยปกติการผ่าตัดไม่ได้เป็นมาตรฐานในการรักษาโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกเนื่องจากตำแหน่งหลังโพรงจมูกทำการผ่าตัดได้ยากและมีผลข้างเคียงที่มากเนื่องจากมีอวัยวะใกล้เคียงที่สำคัญมาก เช่น เลือดออกการติดเชื้อมีปัญหาในการกลืนและพูด เป็นต้น

            ทั้งนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องสังเกตอาการแสดงดังที่กล่าวมาข้างต้น หากผู้ป่วยมีอาการสามารถขอเข้ารับการตรวจจากแพทย์ได้เพราะมะเร็งชนิดนี้ หากตรวจพบได้เร็วจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและมีโอกาสหายที่สูงขึ้น


Reference: 

-NCCN guideline for head and neck cancer

-American cancer society

-Hospital base cancer registry 2020 of National cancer institute department of medical services ministry of public health Thailand


อ.นพ.ธีรดนย์ ตรีชัยรัศมี
สาขาวิชารังสีรักษา ภาควิชารังสีวิทยา

ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง