ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง

มะเร็งเนื้อเยื่อสมอง

มะเร็งเนื้อเยื่อสมอง


            สมองนั้นประกอบไปด้วยเซลล์หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น เซลล์ประสาท เซลล์ห่อหุ้มระบบประสาท และเซลล์อื่นๆ ที่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงเซลล์ประสาท โดยการเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ห่อหุ้มระบบประสาทเหล่านี้ทำให้เกิดโรคมะเร็งเนื้อเยื่อสมองตามมาได้

            สำหรับมะเร็งที่พบบ่อยที่ในระบบประสาทของผู้ใหญ่ได้แก่ กลุ่มมะเร็งไกลโอมา (Glioma) ซึ่งเกิดมาจากเซลล์ห่อหุ้มระบบประสาทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เซลล์แอสโตรไซต์ (Astrocyte) หรือ โอลิโกเด็นโดรไซต์ (Oligodendrocyte) โดยมะเร็งกลุ่มไกลโอมา (Glioma) นี้ส่วนใหญ่จะพบเป็นลักษณะความรุนแรงสูง (High-grade) มากกว่ากลุ่มความรุนแรงต่ำ (Low-grade)


ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งสมอง

     ในปัจจุบันยังไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงแน่ชัด แต่พบว่าบางส่วนสัมพันธ์กับพันธุกรรม และ การได้รับการฉายรังสีบริเวณสมองมาก่อน


อาการแสดงของกลุ่มมะเร็งสมองที่พบบ่อย ได้แก่

- อาการชัก

ปวดศีรษะ

แขนขาอ่อนแรง

คลื่นไส้/อาเจียน

            หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวแนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยต่อไป

 

            สำหรับมะเร็งสมอง การได้ชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัยมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะใช้ในการจำแนกความรุนแรงของตัวโรค และ ใช้ในการเลือกการรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย ในยุคปัจจุบันมีความเข้าใจมะเร็งสมองมากขึ้นกว่าอดีต พยาธิวิทยาสามารถทำการย้อมชิ้นเนื้อเพื่อจำแนกลักษณะของมะเร็งต่างๆได้อย่างชัดเจน ทำให้การรักษาเหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น  

 

มะเร็งสมองในผู้ใหญ่ที่พบบ่อยและการรักษา

 

1. มะเร็งสมองแอสโตรไซต์โตมา (Astrocytoma)

            มะเร็งสมองชนิดนี้เกิดมาจากเซลล์แอสโตรไซต์ (Astrocyte) สามารถพบได้ทั้งความรุนแรงต่ำ(WHO grade 1/2) และความรุนแรงสูง(WHO grade 3/4) การรักษาหลักของมะเร็งชนิดนี้ได้แก่การผ่าตัด และหากพบว่าเนื้องอกมีความรุนแรงสูงจำเป็นที่จะต้องได้รับการฉายรังสีและยาเคมีบำบัดตามหลังการผ่าตัด

 

2. มะเร็งสมองโอลิโกเด็นโดรไกลโอมา (Oligodendroglioma)

            มะเร็งสมองชนิดนี้เกิดมาจากเซลล์โอลิโกเด็นโดรไซต์ (Oligodendrocyte) สามารถพบได้ทั้งความรุนแรงต่ำ(WHO grade 2) และความรุนแรงสูง(WHO grade 3) โดยทั่วไปมะเร็งสมองชนิดนี้จะพบความรุนแรงต่ำกว่ากลุ่มมะเร็งสมองแอสโตรไซต์โตมา (Astrocytoma) การรักษาหลักของมะเร็งชนิดนี้ได้แก่การผ่าตัด เช่นเดียวกัน และหากพบว่าเนื้องอกมีความรุนแรงสูงจำเป็นที่จะต้องได้รับการฉายรังสีและยาเคมีบำบัดตามหลังการผ่าตัด

 

3. มะเร็งสมองไกลโอบลาสโตมา  (Glioblastoma)

            มะเร็งสมองไกลโอบลาสโตมา  นั้นถือเป็นมะเร็งสมองที่มีความรุนแรงสูงที่สุด (WHO grade 4) และโชคร้ายที่ถือเป็นมะเร็งสมองที่พบในอัตราที่สูงที่สุดในบรรดามะเร็งของสมอง ประมาณ 20%ของมะเร็งสมองทั้งหมด อัตราการอยู่รอดภายหลังจากวินิจฉัยด้วยมะเร็งชนิดนี้อยู่ที่ประมาณ 1-2 ปี

            มะเร็งชนิดนี้พบบ่อยในผู้ป่วยอายุประมาณ 40-60 ปี และ บางส่วนพบว่ากลายพันธ์มาจากมะเร็งสมองชนิดแอสโตรไซต์โตมา (Astrocytoma) การรักษาหลักของมะเร็งสมองชนิดนี้ได้แก่การผ่าตัด แต่อย่างไรก็ตามด้วยลักษณะที่ชอบแทรกซึมไปตามเนื้อสมองทำให้ยากที่จะสามารถผ่าตัดได้หมด ทำให้ทุกรายของผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้จะต้องมารับการฉายรังสีและให้ยาเคมีบำบัด โดยการรักษาในปัจจุบันของการฉายรังสีและเคมีบำบัดนั้นมีทางเลือกหลายหลากโดยจะเลือกการรักษาจาก อายุ ความแข็งแรงของร่างกายโดยรวม (Performance status) และผลย้อมชิ้นเนื้อเพิ่มเติมเป็นหลัก

 


นายแพทย์ธนันต์ จิตรวัชรโกมล

สาขาวิชารังสีรักษา ภาควิชารังสีวิทยา

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

 

 

 

 

 

 

ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง