CyberKnife เป็นเครื่องฉายรังสีประเภทหนึ่งที่มีความเฉพาะทางการฉายรังสี ประกอบไปด้วยระบบแขนกลที่ทำให้สามารถสร้างทิศทางการเข้าลำรังสีได้หลายทิศทาง และมีการใช้ภาพเอกซเรย์ร่วมกับระบบติดตามก้อนมะเร็ง ทำให้เครื่องฉายรังสี CyberKnife มีความแม่นยำสูงในการฉายรังสี
เครื่องฉายรังสี CyberKnife สามารถเปลี่ยนส่วนที่ทำหน้าที่การเปิดพื้นที่การฉายรังสี (Collimator) ได้ 3 ชนิด ได้แก่
1. Fixed Collimator มีลักษณะเป็นทรงกระบอกทำจากตะกั่ว มีรูวงกลมไว้สำหรับให้รังสีผ่านเพื่อทำการรักษา ซึ่งขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของรูวงกลมมี 12 ขนาด ตั้งแต่ขนาด 5 มม. ไปจนถึง 60 มม.
2. Iris Aperture มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนทำมาจากทังสเตน ประกอบกันสร้างเป็นรูป 6 เหลี่ยม ลักษณะการทำงานคล้ายกับชัตเตอร์กล้องถ่ายรูป สามารสร้างพื้นที่การฉายรังสีที่ขนาดแตกต่างกันไปได้ 12 ขนาด เหมือนกับ Fixed Collimator
3. Multileaf Collimator (MLC) มีลักษณะเป็นซี่ เรียงตัวกัน 26 คู่ สามารถสร้างพื้นที่การฉายรังสีได้หลากหลาย
นอกจากที่จะสามารถเลือกส่วนคอลลิเมเตอร์ได้แล้วนั้น เครื่อง CyberKnife ยังมีระบบติดตามก้อนมะเร็ง 4 ชนิด ได้แก่
- ระบบติดตามก้อนมะเร็งภายในศีรษะ (6D Skull Tracking) ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งอยู่ภายในศีรษะ โดยจะอาศัยการถ่ายภาพเอกซเรย์กะโหลกศีรษะของผู้ป่วยเพื่อใช้ในการติดตามก้อนมะเร็งภายใน
- ระบบติดตามก้อนมะเร็งกระดูกสันหลัง (Spine Tracking) ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งที่บริเวณตำแหน่งกระดูกสันหลัง โดยจะอาศัยการถ่ายภาพเอกซเรย์ของกระดูกสันหลังข้อลำดับเดียวกับก้อนมะเร็งในการติดตาม
- ระบบติดตามก้อนมะเร็งแบบฝัง Fiducial (Fiducial Tracking) ระบบนี้จำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องทำการฝัง fiducial markers ก่อน โดยนิยมใช้กับก้อนมะเร็งที่เป็นลักษณะเนื้อเยื่อ เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งระบบนี้จะอาศัยการถ่ายภาพเอกซเรย์ของ fiducial makers ในการติดตามก้อนมะเร็ง
- ระบบติดตามก้อนมะเร็งแบบสัมพันธ์กับการหายใจ (xsight lung tracking) ระบบนี้ใช้กับผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งเคลื่อนที่สัมพันธ์กับหารหายใจ เช่น มะเร็งปอด เป็นต้น โดยระบบนี้จะมีอุปกรณ์ในการสร้างกราฟการหายใจของผู้ป่วยแต่ละราย แล้วคำนวณตำแหน่งของก้อนมะเร็งทำให้การฉายรังสีมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น